วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

งบการเงิน กับ การลงทุน


งบการเงิน กับ การลงทุน

ตัวเลขต่างๆ ใน งบการเงินของบริษัทจดทะเบียน ถือเป็น "หัวใจ" ที่นักลงทุนรายย่อย ควรนำมาใช้วิเคราะห์ และพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นของกิจการต่างๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักลงทุนลด "ความเสี่ยง" จากการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง อีกด้วย
เพราะ งบการเงิน ที่แสดงอยู่ทั้งหมด จะทำให้ผู้ลงทุนประเมินศักยภาพ และมูลค่าของกิจการที่สนใจจะลงทุนได้เป็นอย่างดี สะท้อนถึงภาพรวมฐานะ และความมั่นคงของกิจการนั้นๆ นั่นเอง
นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และขาดการศึกษาข้อมูลกิจการของหุ้นที่เข้าไปลงทุน จึงทำให้รายย่อยมักจะเสียเปรียบรายใหญ่เสมอมา และชอบไปหลงซื้อหุ้นตามกระแส

ศ.เกษรี ณรงค์เดช" นายกสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย
บอกว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ผู้ลงทุนควรปฏิบัติก่อนตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ก็คือ การศึกษาค้นหาข้อมูลต่างๆ ของบริษัทนั้น โดยการดู "งบการเงิน"

ไม่ว่าจะในส่วนของ
+ งบดุล
+ งบกำไรขาดทุน
+ งบกระแสเงินสด ซึ่งถือว่าเป็นงบที่สำคัญที่สุด

"งบกระแสเงินสดจัดเป็นงบที่จะแสดงให้ผู้ลงทุนเห็นว่า ในปีนั้น เงินสด ที่ได้มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น หรือลดลง มากน้อยเท่าไร หรือบริษัทมีการนำเงินสดในรอบปีนั้นไปใช้ในการลงทุนเท่าไร และเอาไปคืนเงินกู้เท่าไร"
สภาพคล่อง ของเงินสด มีความสำคัญต่อความมั่นคงของกิจการมากที่สุด โดยจะเห็นได้จากช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุที่กิจการมากมายต้อง ล้ม ไปมาก ก็เนื่องมาจากการ ขาดสภาพคล่อง ทางการเงิน นั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ บางครั้งผู้ลงทุนอาจไปมองว่า ในเมื่อบริษัทนั้นมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทุกปี หุ้นของบริษัทแห่งนั้นก็น่าจะอยู่ในความสนใจ เพราะแสดงได้ถึงผลประกอบการและสภาพคล่องที่ดี
แต่มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป....

เพราะงบ กระแสเงินสด อาจมีจุดสังเกตที่แสดงให้นักลงทุนเห็นว่า การจ่ายเงินปันผลนั้น อาจเป็นการนำ เงินกู้ จากสถาบันการเงินมาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นก็ได้เช่นกัน
กรณีการ กู้มาจ่าย เงินปันผล ก็ถือเป็นอีก จุดสังเกต ที่นักลงทุนไม่ควร "มองข้าม"

นอกจากนี้ รายการข้อมูลต่างๆ ที่แสดงไว้ในแบบงาน 56-1 หรือ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ที่บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งต้องยื่นให้กับทาง ก.ล.ต. ก็เป็นอีกแหล่งข้อมูลที่นักลงทุนควรเข้าไปศึกษาเช่นกัน....

โดยเข้าไปศึกษาอ่านได้ในเวบไซต์ของ ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯที่ www.set.or.th
ซึ่งในนั้นจะแสดงรายละเอียดทุกด้าน ตั้งแต่ลักษณะการประกอบธุรกิจ ปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ โครงการในอนาคต ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และอื่นๆ ที่ผู้ลงทุนจะสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี

ศ.เกษรี ยังบอกว่า ข้อมูลจากหนังสือรายงานประจำปี (Annual Report) ของบริษัทจดทะเบียน ก็ยังเป็นอีกแหล่งที่ต้องศึกษา เพราะรายละเอียดในนั้นจะแสดงให้เห็นถึง "จุดเด่น" ของธุรกิจ ทีมผู้บริหาร และอื่นๆ ของบริษัทไว้อย่างละเอียด ที่สำคัญนักลงทุนควรอ่านดู รายงานผู้สอบบัญชี ที่แสดงไว้ในหนังสือรายงานประจำปีด้วยว่า ผู้สอบบัญชีจะให้ความเห็นต่อการดำเนินงานของกิจการนั้นไว้อย่างไร และในรายงานผู้สอบบัญชีนี้ จะต้องมีข้อความ รับรองว่าถูกต้อง แสดงกำกับไว้ด้วย

หากในรายงานประจำปีของบริษัทบางแห่ง มีการลงไว้ว่า ไม่ให้ความเห็น นั่นจะแสดงถึงความไม่ชอบมาพากลของบริษัทนั้นๆ เพียงแต่ไม่สามารถหาหลักฐานได้ จนทำให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถลงชื่อรับรองความถูกต้องได้

อีกสิ่งที่นักลงทุนจะต้องดู ก็คือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ต่างๆ ที่จะมองผ่านไปไม่ได้ เพราะตรงนี้สำคัญที่สุด ซึ่งตรงนี้จะมีการแสดงข้อมูลหรือจุดสังเกตที่ผู้สอบบัญชีต้องการชี้แจงให้ผู้อ่านได้รับรู้
ตรงรายงานผู้สอบบัญชีนี้ ถ้านักลงทุนอ่านแล้วรู้สึกว่าเจออะไรแปลกๆ ก็ต้องระวังให้มากๆ?

ไม่เพียงเท่านั้น ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้สอบบัญชี (Audit) ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาดูด้วยว่า เป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เพราะจุดนี้จะเป็นต้นกำเนิดความของโปร่งใสในงบการเงินทั้งหมด

ท้ายที่สุด ผู้ลงทุนอาจพิจารณาอ่านบทวิเคราะห์งบการเงินของกิจการที่ตนสนใจจะลงทุน ซึ่งมีการจัดทำไว้โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอีกทางหนึ่งด้วย

จากนี้ไปเมื่อประกาศตัวเลขงบการเงินแต่ละไตรมาส ผู้ลงทุนจะมองเพียงแค่ว่า บริษัทนั้นมีกำไร หรือขาดทุนเท่าไร เพียงแค่นั้นไม่ได้อีกต่อไป....

เรื่อง : ณัฐวิทย์ ณ นคร
ดัดแปลงจาก
http://www.nationejobs.com/content/money/pfinance/template.php?conno=277

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Windows dressing VS Window Shopping

Windows dressing คืออะไร 

Windows dressing คือ การดันราคาหุ้นปิดให้สูงขึ้น 
เพื่อทำให้ราคาหุ้นในพอร์ทมีมูลค่าสูงขึ้น 
และเมื่อมี การ mark to market ช่วงปิดสิ้นปี 
จะนำตัวเลขมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้น มาบุ๊คบัญชี 
ส่งผลต่อเงินลงทุนมีมูลค่าสูงขึ้นนั่นเอง 


ส่วนจะทำจริงหรือไม่ 
ไม่มีใครบอกได้ เพราะถ้าใช้หลักตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว 
หรือ Efficient Market จะไม่มีใครสามารถมี 
อิทธิพลต่อราคาหุ้นได้รายใดรายหนึ่ง ในมุมของกองทุน 
คือ การทำให้ตัวเลขทางบัญชีดูดี
เช่น กองทุนอาจจะไล่ซื้อ ดัน ดัชนีให้สูงขึ้น
เพื่อให้ NAV ของกองทุนดีขึ้น (หากขายมากก็ตกอะ)
หรือ
บริษัทอาจดันราคาหุ้น ให้สูงขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกันว่าดูดีมีราคา

การเพิ่มมูลค่าบริษัทมิได้ดูที่ เงินในบัญชีสด

Window shopping

เดินซื้อของตามดิสเพลยศูนย์การค้า อย่างมีความสุข ทั้งๆที่ไม่ได้ซื้อจริง

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 24 รังเสือ..ถ้ำมังกร


กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 24 รังเสือ..ถ้ำมังกร

ภาษิตโบราณ กล่าวไว้ว่า "เสือ 2 ตัว ไม่อยู่ถ้ำเดียวกัน"

คำๆ นี้ เป็นจริงอย่างไร
"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ อธิบายว่า โดยธรรมชาติ "ใหญ่กับใหญ่" จะอยู่ด้วยกันได้ไม่นาน..เชื่อผมซิ!!!
มันเป็นอย่างนี้จริงๆ สุดท้ายมันก็จะ "ขี่" (เอาเปรียบ) กันเอง -----------------------------
: พูดตรงๆ ผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมด บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา มันไม่คุ้มหรอก..เชื่อผมซิ!!! -----------------------------

นอกจากนี้ การเข้าไปเทรดหุ้นกับโบรกฯ ไหน เสี่ยยักษ์ จะดูว่าโบรกฯ นั้นมี "พอร์ตเล่นหุ้น" ด้วยรึเปล่า!
ถ้า "มี" โดยส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบไปเทรดหุ้นที่นั่น เพราะคิดแง่ลบไว้ก่อนว่า "เขาจะดักกินเรา" (รู้ความเคลื่อนไหวรายใหญ่)
ส่วนโบรกฯ ไหน ที่เห็นรายใหญ่ไปรวมตัวกันมากๆ แสดงว่าเขาจับมือกันแน่นแล้ว

เสี่ยยักษ์ ยังเล่าถึงวิธีการเอาเปรียบ (ขี่) กันในวงการรายใหญ่ ที่เจอมากับตัวเอง
"คุณคิดว่ามาร์เก็ตติ้งเขาไม่มีอินไซด์เหรอ ผมเคยทะเลาะกับคนบางคน เขาไปซี้กับมาร์เก็ตติ้งของผม เขาก็เป็นรายใหญ่เหมือนกัน โดยใช้วิธีเลี้ยงมาร์เก็ตติ้งไว้หลายคน หลายโบรกฯ กลางคืนก็พาไปเที่ยว พาไปกินเหล้า แล้วก็บอกมาร์เก็ตติ้งของผมว่า เวลาเสี่ยยักษ์จะซื้อหุ้นอะไร ก็ให้สั่งซื้อให้เขาก่อน เขาจะสั่งประมาณว่า ถ้าพี่ยักษ์ซื้อหุ้นตัวนี้ 10 ล้านหุ้น ซื้อให้เขาก่อนเลย 2 ล้านหุ้น เอาเปรียบกันอย่างงี้เลย ผมจะบอกให้ว่าอยู่ในวงการนี้นานๆ ยิ่งคุณเป็นรายใหญ่ จะมีพวกที่จ้องหาผลประโยชน์จากคุณ มันขี่กันซึ่งๆ หน้า เวลาที่ผมจะขายหุ้น ก็สั่งว่าให้ขายของเขาก่อน แล้วค่อยขายให้ผม"

กรณีที่ "ใหญ่กับใหญ่" จะอยู่ "รัง" เดียวกันได้ เขาต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน "อย่าง "ผม" กับ "ปู่" (เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล) เล่นหุ้นห้องวีไอพี อยู่ติดกัน ต่างคนต่างไม่รู้พอร์ตกัน พูดจริงๆ ด้วยศักดิ์ศรี (ที่เสมอกัน) เขาก็ไม่แอบถามมาร์เก็ตติ้งผม ส่วนผมก็ไม่แอบถามมาร์เก็ตติ้งเขา อย่างงี้..ถึงจะอยู่ด้วยกันได้ แต่เวลาเรานั่งกินข้าวเที่ยงด้วยกัน (ลูกค้าวีไอพี โบรกฯ จะจัดอาหารกลางวันให้มานั่งรับประทานร่วมกัน) เราก็คุยกัน เขาอาจจะถามว่าหุ้นตัวนี้ วิชัย (เสี่ยยักษ์) เล่นมั้ย! บางที ผมก็อาจจะถามว่า ตัวนี้ ปู่ ซื้อมั้ย! ถ้าเห็นแนวทางเดียวกันก็อาจจะซื้อเหมือนกัน แต่หลังๆ ผม กับ ปู่ วิธีการเล่นหุ้นจะต่างกันมาก สมัยก่อนเราจะเล่นหุ้นทางเดียวกัน (ออกแนวเก็งกำไร) ถ้าซื้อด้วยกันหุ้นตัวนั้นจะขึ้นเยอะ

แต่หลังๆ พอผมมาสำเร็จกับวิธีการเล่นหุ้นอีกแบบหนึ่ง หันมาเน้น "หุ้นมวลชน" ปู่ ก็จะไปทาง Value Investor คือ เขาจะเล่นหุ้นกระจายเป็น 10-20 ตัว ไม่เล่นกระจุกตัวเหมือนสมัยก่อน เวลาหุ้นขึ้น มันก็ไม่แรงเหมือนก่อน" ในยุคที่ยังเล่นหุ้นเก็งกำไร เสี่ยยักษ์ ย้อนเล่าอดีตว่า รายใหญ่ๆ จะเล่นหุ้นทางเดียวกันหมด ในลักษณะเกาะกลุ่มกันเล่น เรียกว่า "ก๊อบ***หุ้น" กันเลย อย่างหุ้น SHIN-W1 สมัยก่อนจะเฮโล! กันเข้าไปเล่น แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนต่างสำเร็จวิชาคนละวิชา เวลาคิดอะไรจะไม่ค่อยเหมือนกันแล้ว "ตั้งแต่ยุค SHIN-W1 ผ่านมา ก็แบ่งกลุ่มกันออกมา พอนานๆ ไป ต่างคนต่างค้นหาแนวทางตัวเอง จุดเปลี่ยน! เป็นเพราะว่าเมื่อก่อนรายย่อยใหญ่กว่าต่างชาติเยอะ เดี๋ยวนี้ พลังรายย่อยลดลง สถาบันใหญ่ขึ้นมา ต่างชาติคุมตลาด รายย่อยก็แทบจะไม่มีความหมาย ชี้นำตลาดไม่ได้ ทุกคนก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการเล่นหุ้น อย่างกลุ่มผม คือ เราเล่นด้วยกัน พอดัชนี SET ตกลงมา กลุ่มนี้ก็ขาดกำลัง หลายคนติดหุ้น แต่ยังมีวงเงิน (กู้) พอเล่นได้ แต่ภาวะตลาดไม่เอื้อ ทุกคนก็ไม่อยากเล่น กลุ่มที่เคยมีพละกำลังก็สลายกำลังไปหมด ผิดกับเมื่อก่อน พอบอกว่าจะเล่นหุ้นตัวไหนใส่กันไปยิ่งกว่าพายุ หุ้นนี่วิ่งแรงเลย พอช่วงหลังๆ คุยกันว่าจะเล่นหุ้นตัวนี้ อีกคนบอกว่าไม่เอาดีกว่า มันไม่ได้แตกคอกัน แต่ไม่แข็งแรงอย่างเดิมอีกแล้ว"

เสี่ยยักษ์ สรุปว่า ในที่สุดวิธีการลงทุนก็เปลี่ยนกันไปหมด "เสี่ยปู่" ก็ไปสำเร็จวิชา "เล่นหุ้นมูลค่า" เขาก็ไปทำ Company Visit ไปคุยกับผู้บริหาร
ส่วนตัวผมก็เปลี่ยนสไตล์ คือ "รอเล่นรอบใหญ่" จะให้จับปลาซิวปลาสร้อย (หุ้นเก็งกำไร) เหมือนสมัยก่อน ไม่ค่อยเอากันแล้ว..

แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีกลุ่มรายใหญ่ที่ไปรวมตัวอยู่กับโบรกเกอร์บางแห่ง เขาก็ยังชอบ "เล่นข่าว" (ไล่ราคาหุ้น) อยู่ คือวิธีคิดมันไม่เหมือนกัน เมื่อถามว่าในวงการเล่นหุ้น "รายใหญ่" จะลิ้งค์ถึงกันหมดหรือไม่!! "ส่วนใหญ่จะรู้จัก (ชื่อเสียง) กันว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน แต่บางคนก็ไม่เคยเจอตัวกัน" เสี่ยยักษ์ ย้ำว่า โบรกเกอร์ที่เล่นหุ้นอยู่ทุกวันนี้ มีรายใหญ่ที่สุดอยู่ 2 คน "ผม" กับ "ปู่" (ที่เล่นใหญ่ระดับพันล้าน) แต่บอกได้เลยว่า เราไม่เคยเอาเปรียบน้อง มีข่าวอะไรดีๆ ก็บอกหมด อย่าง "ยะ" มีเงินกว่าล้านบาท เขาก็แฝงตัวเข้ามาในกลุ่ม เราก็ให้โอกาสทุกคน "พูดตรงๆ ผมเคยเล่นหุ้นปั่น วันที่ผมขายหมด บางคนไม่ได้ขาย ผมเสียเพื่อนไปก็หลายคน เสียน้องไปก็หลายคน สุดท้ายมันไม่ได้อะไรขึ้นมา

สุดท้ายผมต้องถามคนใกล้ตัวว่า พี่ขาดทุนเท่าไร น้องขาดทุนเท่าไร ผมจ่ายเงินให้ก้อนหนึ่งไปแบ่งกัน แล้วพวกต่อที่ 3 ต่อที่ 4 ที่บอกต่อๆ กัน เจ๊งหุ้นกันเป็นแถบๆ อย่างนี้เราเสียชื่อเสียง มันไม่คุ้มหรอก..เชื่อผมซิ!!!"

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 23 กลยุทธ์สร้าง "ดีมานด์"


กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 23 กลยุทธ์สร้าง "ดีมานด์"

วิชัย วชิรพงศ์

ถ้าคิดจะ "สร้างราคาหุ้น" แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นมืออาชีพ เขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อน แล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย...ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ถึงจะสำเร็จ !!!

"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ฟัง สมัยก่อนมี "นักปั่นหุ้นชั้นเซียน" อยู่คนหนึ่ง ชื่อเสียโด่งดัง เขาเกาะกัน กับอดีตนักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งนักการเมืองคนนี้ตอนแรกเล่นหุ้นไม่เป็นเลย ก็มาเข้ากลุ่มกับ "นักปั่นหุ้น" คนนี้

เขาก็ใช้เพาเวอร์ทางการเมืองไปหาหุ้น (เน่าๆ) แล้วเอามา "ปั้น" จนร่ำรวย สมัยก่อนพอได้หุ้นมา
วิธีการ
เขาจะเอามาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ แล้วก็ออกหุ้น PP (Private Placement) วิธีนี้ "ฮิตมาก" คือ การเสนอขายหุ้น "แบบเจาะจง" ในราคา "ถูก" ให้กับพรรคพวกตัวเอง แล้วก็เอามาเล่นกันในตลาด แรกๆ ก็เริ่มออกสตาร์ทจุดเดียวกัน หมายถึง ต้นทุนเท่ากัน คุณได้กำไรเท่าไร ทุกคนก็ได้ด้วย คือ "แบ่งผลประโยชน์กันลงตัว"

พอเขาเริ่ม "รู้ทาง" (รวย) คราวนี้ไม่เป็นอย่างงั้นแล้ว ไม่อยากแบ่งใคร จะกินรวบคนเดียว พอเขาหาหุ้นมาได้ก็ (ให้นอมินี) เก็บหุ้น PP ราคาต่ำ ไปหมด แล้วก็ไปชักชวนพรรคพวกให้มาช่วยกันทำหุ้น ถ้าใครหลงกลก็ต้องไปซื้อหุ้นราคาแพงต่อจากเขา เล่นกันไปสุดท้ายก็ "วงแตก" ต้องมานั่งทะเลาะกัน

นิทานเรื่องนี้ เสี่ยยักษ์ สรุปให้ฟังว่า ใหญ่กับใหญ่ หรือ เสือกับเสือ อยู่ด้วยกันไม่ได้นาน สุดท้ายก็แตกคอกันเอง

เกี่ยวกับการ "ทำหุ้น" ที่ เสี่ยยักษ์ เคยเกริ่นไปแล้วในบทก่อน ๆ คราวนี้มาขยายความให้ฟังเพิ่มเติมว่า...

"หุ้นตัวไหนที่ "เจ้าของ" ไม่ทำ (ยกเว้นหุ้นมวลชน) อย่าหวังว่ามันจะขึ้นได้เอง คิดง่ายๆ มีซัพพลาย (มีหุ้น) แต่ไม่มีดีมานด์ (คนซื้อ) มันจะขึ้นได้ยังไง อันนี้แน่นอนที่สุด ถ้าเจ้าของไม่ร่วมมือด้วย ฟันธงเลยครับ "ไม่มีทาง" หุ้นที่หวือหวาๆ เจ้าของเปิดไฟเขียวให้ทั้งนั้นแหละ"

ที่จริงแล้ว "การปั่นหุ้น" คนภายนอกจะดูเหมือนง่าย แต่ถ้าไม่ไปคุยกับเจ้าของหุ้นก่อน ไม่มีทางเลยครับ
เดี๋ยวนี้! เจ้าของลงมาเล่นเองยิ่งน่ากลัว ถ้าคุณไม่ไปคุยกับเขาก่อน แล้วทะเล่อทะล่าไปทำหุ้นเขา โดนโยนหุ้นใส่ คุณอยากได้หุ้นเท่าไร...เอาไปเลย คุณไม่มีทางออก "ยิ่งขาย...ยิ่งตก"

"สมมติ ผมเป็นเจ้าของหุ้นนะ อยากให้หุ้นของผมมีคนมาเล่น ก็ต้องหาคนมาทำหุ้นให้ ผมมีเงินให้คุณ มีหุ้นให้คุณ บอก Target ไปเลยว่า ผมอยากได้ราคาเท่าไร? ถ้าทำถึงเป้าหมายตรงนี้ คุณได้เท่าไร? ถ้างั้นไม่มีใครกล้าเสี่ยง

เพราะอะไรรู้มั้ย! ถ้าคุยกันปากเปล่า ไม่มีหุ้น ไม่มีเงินมาให้ สุดท้ายก็ทะเลาะกันเอง สมมติผมกำลังเล่นขึ้นไปอยู่ดีๆ แต่มีคนโยนหุ้นก้อนใหญ่ออกมา (ล่าสุดเหมือนกรณีหุ้น EMC) วงแตกเลย...เกมโอเวอร์! ใครขายว่ะ! คุยกันแล้วนี่หว่า ถามหน่อยใครมีหุ้นก้อนใหญ่ ถ้าไม่ใช่เจ้าของขายเอง นี่ไง...วิธีการหลอกให้เข้าไปติดกับดัก"

ดังนั้น วิธีที่ได้ผลแน่นอนที่สุด เขาจะ "โอนหุ้น" มาให้ก่อนก้อนหนึ่ง แล้วก็ให้เงินมาอีกก้อนหนึ่ง แล้วให้มืออาชีพเป็นคนทำ แต่ถ้านักข่าวไปถามเจ้าของหุ้น ร้อยทั้งร้อยจะปฏิเสธว่า ไม่รู้เรื่อง "ผมมีหน้าที่บริหารอย่างเดียวครับ" เชื่อเถอะ! ตอบอย่างนี้ทุกราย

เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะ "สร้างราคาหุ้น" แล้วไม่ให้วงแตก มือทำหุ้นที่เป็นระดับมืออาชีพ เขาจะบอกเจ้าของหุ้นว่า คุณต้องโอนหุ้นมาให้ก่อน แล้วต้องเอาเงินมาให้ด้วย และต้องสัญญากันว่าระหว่างทางตรงจุดไหนขายได้ ตรงไหนห้ามขาย...เชื่อผมเถอะ! ล้านเปอร์เซ็นต์เลย ต้องใช้วิธีนี้ถึงจะสำเร็จ

เมื่อเรารู้เกมว่า หุ้นตัวนี้เป็น "หุ้นปั่น" ล้านเปอร์เซ็นต์ เสี่ยยักษ์ แนะนำว่า อย่างเราเล่นหุ้นเก็งกำไร คุณต้องเล่นเป็น "ตัวประกอบ" อย่าเล่นเป็น "พระเอก" เพียงแต่ว่า ถ้าเขาปั่นกัน เราก็เล่นน้อย ถ้าอยากเล่นเยอะต้องเล่นหุ้นมวลชน หลอกกันไม่ได้

โดยยกตัวกรณีของหุ้น NMG-W2 ช่วงใกล้หมดอายุ ช่วงต้นปี 2550 หุ้นตัวนี้ถูกลากราคาจาก 0.24 บาท ขึ้นไป 2.40 บาท ภายในเวลาเพียง 10 วัน

ในวงการรู้ว่า ใคร...? เป็นคนมาเล่น NMG-W2 คนนี้ปั่นหุ้นไม่ต้องมีสตอรี่อะไรเลย เขาเคยลากหุ้นบางตัวจาก 1-2 บาท ให้วิ่งไป 7-8 บาท ได้เลย ถือว่าใจถึง และมือถึงที่สุดในวงการ ไม่มีใครเกิน "เสี่ย" คนนี้

ตอนนั้น หุ้น NMG-W2 แปลงสภาพ 14 บาท ราคาหุ้นแม่ NMG อยู่ที่ 8.50 บาท เล่นข่าวได้เวลาช่อง 9 อสมท. เขาเล่นหุ้นแม่ขึ้นมาที่ 11 บาท แต่ลาก NMG-W2 ขึ้นไป 900% ใกล้หมดอายุแล้ว เล่นกันขึ้นไปได้ยังไง

"ตอนนั้น มีคนโทรศัพท์มาถามผมว่า ติด NMG-W2 ที่ "บาทกว่า" จะทำยังไงดี ผมบอกว่า มันจะหมดอายุอยู่แล้ว ยังไงคุณก็ต้องทิ้งแล้ว เขาถามว่าจะขายยังไงหมด ผมบอกว่า คุณก็ขายแบบเหวี่ยงแห (กระจาย) ซิ! พอขายหมดที่ 1.20 บาท เขาลากขึ้นไป 2.40 บาทเลย

ถามว่า ถ้าคุณเป็นรายย่อยจะเล่นหุ้นประเภทนี้ยังไง ผมจะยกตัวอย่าง กลยุทธ์ที่นักลงทุนรุ่นน้องที่เล่นหุ้น NMG-W2 ให้ฟัง
ไอ้คนนี้ที่จริงมันเป็นรายใหญ่พอสมควร มันมีโทรศัพท์ 4 เครื่อง สั่งซื้อกระจาย 2,000 หุ้น 2,000 หุ้น 2,000 หุ้น กระจายออเดอร์ (เป็นหางว่าว) คือ เขาพยายามแตกออเดอร์ให้ย่อยๆๆ ไม่อยากให้รายใหญ่จับได้ วิธีนี้เขาก็หาเงินใช้ได้เรื่อย" นี่เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับในการลงทุน "หุ้นปั่น" ที่ เสี่ยยักษ์ เล่าให้ฟัง

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 22 รู้จักคำว่า "รอคอย"


กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 22 รู้จักคำว่า "รอคอย"

วิชัย วชิรพงศ์

ถ้าเราเทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด การตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคยืนยัน แล้วทุกคนเริ่มกลัวกันหมด ตรงนั้น คือ จุดที่ปลอดภัยที่สุด ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้
ความสำเร็จที่ยากที่สุด อาจไม่ใช่การเดินทางเพื่อค้นหา "กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ" เพราะพื้นฐานแห่งความสำเร็จ แท้ที่จริงแล้ว คือ การเอาชนะจิตใจของตัวเองให้ได้เสียก่อน ในตลาดหุ้น การ "รู้เขา" อย่างเดียว มิอาจไปถึงเป้าหมายได้ ต้อง "รู้เรา" อย่างถ่องแท้ด้วย ไม่เช่นนั้นเงินที่กลาดเกลื่อนอยู่ในตลาดหุ้น ก็ไม่สามารถ "หยิบ" ขึ้นมาเชยชมได้ คำจำกัดความสั้นๆ ที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เน้นย้ำ ก็คือ ถ้าอยากจะเล่นหุ้นให้รวย ต้องรู้จักคำว่า "รอคอย" (อดทน) ต้องรอจังหวะ รอรอบของมันให้ได้ แล้วทำไม! จะรอมันไม่ได้ คุณต้องนิ่ง คุณต้องใจเย็นๆ "ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จในอาชีพเล่นหุ้น คุณต้องเป็นมืออาชีพให้ได้ คุณถึงจะอยู่รอด" เสี่ยยักษ์ บอกว่า "หุ้นในดวงใจ" ไม่ได้มีกันทุกๆ เดือน บางทีต้องรอคอยนานเป็นปี ถึงจะเจอ "รอบใหญ่" สักตัว

สมัยก่อน รายย่อยเป็นใหญ่ในตลาดหุ้น "หุ้นเก็งกำไร" ครองเมือง วางมาร์จิน 30% เล่นหุ้นได้ 100% เล่นกัน "มันส์" สุดๆ แต่สมัยนี้ฝรั่งคุมตลาดหุ้นเราหมดแล้ว ของเรา 100 หัวสมอง เล่นหุ้นไม่ตรงกันเลย แต่ของเขา 10 หัวสมอง เล่นหุ้นตัวเดียวกัน เขาคิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ยุคนี้ต้องเล่น "หุ้นพื้นฐาน" ถึงจะมีโอกาส เสี่ยยักษ์ เล่าว่า วิธีการเล่นหุ้นสมัยก่อน รายใหญ่จะใช้วิธีการ "อมหุ้น" แล้ว "ลาก" ขึ้นยาวๆ ไม่มีตก แล้วเล่นกันทั้งกระดาน รายย่อยจะ "เล่นรอบ" ได้ตลอดเวลา พอออกจากตัวนี้ ถ้าตัวไหนยังไม่ขึ้น ก็เข้าตัวนั้นดักทางไว้ก่อน ผิดกับยุคสมัยนี้ เล่นหุ้นแบบเดิมไม่ได้แล้ว พฤติกรรมของตลาดเปลี่ยนไปหมด หันมา "เลือกตัวเล่น" (ฝนตกไม่ทั่วฟ้า) ยกตัวอย่างเช่น ถ้า BAY-W1 ขึ้น หุ้นวอร์แรนท์จะขึ้นกันทั้งกระดาน ปาเป้าตัวไหนก็ถูก ผิดกับตอนนี้ BAY-W1 ขึ้นตัวเดียว ตัวอื่นลงหมด เป็นต้น

ในสมัยก่อน ถ้า "เจ้าของหุ้น" อยากให้หุ้นของตัวเองขึ้น เขาจะลากขึ้นไปให้ถึงจุดสุดยอดเลย (เล่นยาว) แต่เดี๋ยวนี้ เปล่า! เจ้าของหุ้นมันคิดแบบว่า จะ "ถอนทุนคืน" เร็วๆ เขาคิดว่า หุ้นอยู่ในกระเป๋าตัวเอง ขายแล้วได้ตังค์เลย จะ (โง่) ถือนานไปทำไม! พอเอาหุ้นเข้าตลาด (ขายไอพีโอ) เสร็จ ก็ทยอยปล่อยหุ้นขาย รวยอยู่คนเดียว ใครไปซื้อหุ้นอย่างนี้ ก็ "ซวย" !!! สำหรับหุ้นที่ดี "ผู้บริหาร" หรือ "เจ้าของ" จะต้องไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้น คือ ไม่มีพฤติกรรมทุจริต และต้องดูแลหุ้นของตัวเอง หุ้นอย่างนี้จะมี "รอบเล่น" เสี่ยยักษ์ กล่าวว่า คนเล่นหุ้นทุกคน จะต้องเคยมีประสบการณ์ "เฉียดรวย" (เจอหุ้นขึ้นรอบใหญ่) มาหมด แต่ทำไม! หลายคนเล่นหุ้นแล้วไม่ได้ตังค์ หรือได้กำไรน้อย สาเหตุที่คุณไม่ชนะ เพราะเจอแบบไม่มีกลยุทธ์ กล้าๆ กลัวๆ อ่านตลาดไม่ขาด จะซื้อตามก็ไม่กล้า (จะรอให้มันปรับฐานราคาก่อน...สุดท้ายก็ไปซื้อแพง) หุ้นขึ้นนิดหน่อยก็รีบขายตัดกำไรทิ้ง เท่าที่สังเกต...พฤติกรรมอย่างนี้ จะเกิดกับคนที่เทรดหุ้นทุกวัน สมองมันไม่มีจุดคิด เพราะการตัดสินใจบ่อยมันพลาดได้ง่าย ข้อเสียอีกอย่าง คือ ใจไม่นิ่ง ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวย คุณต้องรอจังหวะ รอให้เครื่องมือทางเทคนิคมันพร้อม (ตัดขึ้นก่อน) พื้นฐานหุ้นรองรับ จุดสำคัญ...ถ้าตลาดหุ้นช่วงไหนคนเริ่มกลัวกันหมด "แหยงตลาด" ตรงจุดนั้น คือ "จุดที่ปลอดภัยที่สุด" ซื้อเสร็จก็ใส่ปี๊บเอาไว้เลย "นี่คือ..เคล็ดลับ"

เมื่อสอบถาม เสี่ยยักษ์ ถึง ประสบการณ์ "เฉียดตาย" และ "เฉียดรวย" "ส่วนใหญ่จะ "เฉียดตาย" (รอด) มากกว่า ยกตัวอย่าง หุ้นธนายง สมัยก่อน 600-700 บาท แล้ววันนี้เป็นยังไงเหลือ "บาทกว่า" หุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปิดกันหมด ดัชนี SET ลงมาเหลือ 200 จุด ถ้าใคร Cut Loss ไม่เป็น ฟันธงเลยว่า "ตาย" หมด" เพราะฉะนั้น การเล่นหุ้น เราต้องมี "เป้า" ในใจตลอดเวลาว่า ถ้าราคาลงมาเท่าไร? คุณต้องขาย ยกตัวอย่าง วันที่เกิดเหตุการณ์ ตึกเวิลด์เทรดถล่ม (11 กันยายน 2544) วันเดียวโดนไป 26% เรามองว่าเรื่องมันคงไม่จบง่ายๆ ต้องมีการแก้แค้น "เวลาที่เกิดเหตุการณ์ช็อก! ตลาด ผมจะประเมินว่า จากนี้ไปสถานการณ์จะดีขึ้นกว่านี้มากมั้ย! ถ้าคำตอบ คือ "ไม่มีทาง" นั่นหมายถึงว่า เราต้องยอมขาย (ขาดทุน) ผมมีคติว่า ถึงคราว "แพ้" ก็ต้องยอมแพ้ ต้องกล้าขาดทุน พอเปิดตลาดมาดัชนีดิ่งลงเหว ผมก็รอให้มันรีบาวด์ แล้วก็ขายล้างพอร์ตหมด จำได้ว่าตอนนั้น ขาดทุนไป 20-30 ล้านบาท" เสี่ยยักษ์ บอกว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนาน ไม่มีใครที่ซื้อหุ้น "ถูกตัว" หมดทุกครั้ง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อาชีพเราต้องมอง "โอกาส" และ "ความเสี่ยง" อยู่ตลอดเวลา ถ้าลงมาถึงตรงไหน คุณต้องตัดสินใจเด็ดขาด "คนที่พลาดมักจะเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ไม่เด็ดเดี่ยว แล้วชอบอ้างเหตุผลมากลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเอง...ลองไปคิดดูว่าจริงอย่างที่พูดหรือไม่" ----------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 21 ตลาดแบบไหน "เล่นแล้วได้ตังค์"


กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 21 ตลาดแบบไหน "เล่นแล้วได้ตังค์"

วิชัย วชิรพงศ์

การอ่านอารมณ์ตลาด ถ้า "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว "ฝรั่ง" ไม่เข้า บอกได้เลยว่า
เล่นหุ้นไม่ได้ตังค์ ถ้าจะเล่นหุ้นให้ได้กำไร รายย่อยต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรแห่กันเข้ามาเล่นตามน้ำ ตลาดแบบนี้ "ได้ตังค์"

ตลาดหุ้นแบบไหนที่เล่นหุ้นแล้วไม่ค่อยได้ตังค์...? (น่าเบื่อ) "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ บอกว่า กรณีที่ "รายย่อย" สงบเสงี่ยมเจียมตัว และ "ฝรั่ง" ไม่เข้า ตลาดหุ้นช่วงนั้นจะเงียบเหงา (ไม่น่าเล่น) บอกได้เลยเล่นหุ้นไปก็ไม่ได้เงิน อยู่นิ่งๆ ดีที่สุด

ถ้าคิดให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อธิบายได้ว่า เพราะเงินไม่มีมาหมุน "ทำกำไรยาก" "ถ้าจะเล่นหุ้นแล้วได้เงิน "รายย่อย" ต้องมีจุดมั่นใจ นักเก็งกำไรต้องตาม (น้ำ) กันแหลก! หุ้นมันจะวิ่งจู๊ด หรือ ขึ้นไปทำนิวไฮ (จุดสูงสุดใหม่) ได้" เสี่ยยักษ์ อธิบายว่า ช่วงที่หุ้นขาขึ้น มันจะมีจังหวะ "พักตัว" จากนั้นให้สังเกตว่า มักจะมีข่าวดีมา "หนุน" จังหวะสอง ที่ทุกคนมองว่า ราคามันวิ่งขึ้นไปทำ "นิวไฮ" ช่วงนี้แหละ นักเก็งกำไรจะแห่ตามกันแหลก!! ทั้งนี้ สำหรับช่วง "พักตัว" ในหุ้นพื้นฐานดีๆ จะใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่ค่อยรีบร้อนขึ้น (จะตรงกันข้ามกับหุ้นปั่น ที่รีบร้อนขึ้น) ยกตัวอย่าง หุ้น ปตท. เวลาเขาจะทำหุ้นตัวนี้ เขาจะต้องค่อยๆ เก็บ บีบให้เหลือแต่คนที่ "ใจถึง" จริงๆ พอทุกคนหมดแรง มันก็จะ "วิ่ง" "ยิ่งหุ้นตัวใหญ่ ถ้าเขารู้ว่าตอนไอพีโอ มีคนไปแย่งกันจอง (หุ้นไม่พอขาย) พอเข้าตลาดมาปั๊บ! เขาจะพยายามกดราคา เพื่อกดลงมารับต่ำๆ ถ้าวันแรกเปิดมาสูง เขาก็จะเทรดให้หุ้นต่ำลงมาก่อน ...แต่คุณดู พอมันเก็บของ (สะสมหุ้น) ได้พอแล้ว สังเกตว่า "วอลุ่มพีค" (เก็บของได้แล้ว) ราคาปรับตัวลงมาเสร็จ คราวนี้ ปริมาณซื้อขายจะไม่ได้เยอะ สภาพคล่องจะเริ่มตึงขึ้น ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้นช้าๆ บางทีก็เล่นไซด์เวย์อยู่นาน จนคนซื้ออึดอัด ใครทนไม่ไหวก็ "คืนของ" ให้เขา แต่พอเขารวบรวมหุ้นได้เต็มที่แล้ว พอ MACD (ระยะเดือน) ตัดขึ้น ทีนี้ มันวิ่งขึ้นเร็วมาก"

เสี่ยยักษ์ อธิบายว่า ส่วนตัวชอบใช้กราฟ MACD ระยะเดือน (Month) เป็นดัชนีชี้นำหลัก สำหรับการลงทุน "รอบใหญ่ๆ" ที่ผ่านมาก็ใช้ได้ผลดีมาตลอด แต่ถ้ามาถามรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎี "ผมไม่รู้" แต่รู้ว่า ถ้า MACD ทะลุ "ศูนย์" ลงไปเลย "ไม่ดี" แต่ถ้า MACD อยู่ต่ำกว่าศูนย์ มันจะขึ้นมาที่ศูนย์ก่อน จากนั้นหุ้นจะปรับตัวลงอีกรอบ คือ มีการพักตัวรอบใหญ่ แล้วถ้ามันกลับมาที่ "ศูนย์" อีกที บีบตัวแล้ว "ตัดขึ้น" คราวนี้หุ้นจะเป็นขาขึ้น "รอบใหญ่" เสี่ยยักษ์ บอกว่า ระหว่างการ "ก่อตัว" ของหุ้น จากประสบการณ์ ดูกราฟราคาเราจะรู้เลยว่าถ้าใครดูเป็น (รู้จริง) กราฟไม่มีหลอก อย่างเช่น หุ้น ATC ถ้าจับจุดถูก MACD ระยะเดือน ตัดขึ้นชัดเจนช่วงปลายปี 2545 สัญญาณดีมาก แต่ก็ต้องทำการบ้านด้านปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้ารีบเข้าไปซื้อ "ตอนนั้นทั้งกราฟและข้อมูลพื้นฐาน ยืนยันในทิศทางเดียวกัน เรารู้เลยว่าหุ้นตัวนี้มันจะ "เทิร์นอะราวด์" พอวงจรปิโตรเคมีมันมา (ปี 2546) หุ้นขึ้นมหาศาลเลย" หรืออย่างหุ้น ปตท. ตัว MACD ระยะเดือน มันตัดลงมาตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว หุ้น ปตท.ค่อยๆ ลงมาจาก 270 บาท ลงมา 200 บาท ช่วงนี้รู้เลยว่ามันกำลังพักตัว (หลังจากขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน 3 ปี ช่วงปี 2546-2548) "ช่วงที่ MACD ของหุ้น ปตท. ตัดลงมา ทั้งสองเส้นมันยัง "ถ่าง" กันอยู่เยอะ ผมก็รอให้ MACD มันบีบ พร้อมที่จะตัดขึ้นก่อน เราถึงจะมีจุดมั่นใจเข้าซื้อ (เพื่อเล่นรอบใหม่) เรารู้ว่าพื้นฐานของหุ้นดีมากอยู่แล้ว แต่หุ้นทุกตัวจะต้องมีระยะพักตัว บางครั้งอาจจะกินระยะเวลานานหลายเดือน บางครั้งครึ่งปี บางตัวนาน 2-3 ปี"

เสี่ยยักษ์ อธิบายถึงระยะพักตัวของหุ้นเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่หุ้นบางตัว "พักตัวนาน" แสดงว่า มี "คนเจ็บ" กับหุ้นตัวนั้นเยอะ มันต้องใช้เวลา "รอ" ผลการดำเนินงาน หรือ ข่าวดี หุ้นถึงจะมีแรงกลับมาสู้ใหม่ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ "กำไรดี" อยู่แล้ว ระยะพักตัวก็อาจจะไม่นานมาก

วิธีการในการวิเคราะห์หุ้นระดับ "ลึก" ของเซียนหุ้นรายนี้ มีขั้นตอนอย่างไร
"สมมติ ผมจะวิเคราะห์หุ้น ปตท. เรารู้ว่ากำไรสุทธิปีนี้ ไม่น่าจะหนี หุ้นละ 30-35 บาท เทรดกันที่ค่า พี/อี ต่ำแค่ 6-7 เท่า เราก็ประเมินว่า ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่สูงอย่างนี้ไปอีกหลายปี หุ้นปตท. ยังไงก็ต้องดี แต่หุ้นลงมาเหลือ 210-220 บาท คราวนี้เราก็รอเวลาให้กราฟ MACD ยืนยันการ "ตัดขึ้น" ก่อน เราค่อยเข้าไปซื้อ เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงก็จะไม่สูง ระยะเวลา "รอ" ราคาวิ่งขึ้นก็ไม่นานด้วย" มันเป็นสูตรวิธีคิดว่า การที่ MACD มันบีบ แล้ว "รอ" ตัดขึ้นเหนือ "ศูนย์" ราคาหุ้นอยู่ในเขต "Oversold" คือ อยู่ในเขตขายมากเกินไป จนข่าวร้ายไม่มีผลต่อราคา ไม่มีทางร้ายไปกว่านี้แล้ว คนที่ติดหุ้นอยู่ จะให้ขายก็ไม่อยากขายขาดทุนมาก จะให้บุ่มบ่ามรีบซื้อ ก็ยังไม่กล้าซื้อ นิ่งๆ เฉื่อยๆ ชาๆ "จุดนั้น คือ จุดที่อันตรายที่สุด แต่เป็น...จุดที่ปลอดภัยที่สุด คือประมาณ ตี 5 ถึง ตี 5 ครึ่ง จ่ายกับข้าวสบายๆ ไม่ต้องแย่งกับใคร ถ้าอยากจะรวย คุณต้องรอจังหวะนี้ให้ได้" ----------------------------

กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 20 เล่นหุ้นสไตล์ "พญาอินทรี"


กูรูหุ้นพันล้าน : ตอนที่ 20 เล่นหุ้นสไตล์ "พญาอินทรี"

วิชัย วชิรพงศ์

"เฮียประธาน เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายา "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เขาจะบินมาเลย..เขาจะมาซื้อหุ้น"
การเล่นหุ้นให้ประสบความสำเร็จ "นิสัย" และ "พฤติกรรม" ของคนเล่นหุ้น ถือว่ามีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน

"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ นำประสบการณ์ที่พบมาจริงในตลาดหุ้น ในช่วง 20 ปี มาถ่ายทอดให้ฟัง โดยระบุถึง "นิสัยคน" ที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว ดังนี้...

คนแรก..คนนี้อายุมากแล้ว แต่ "ไม่ยอมปรับตัว" ประกอบอาชีพประสบความสำเร็จมีเงินหลายสิบล้านบาท สุดท้ายก็มาล้มเหลวในตลาดหุ้น
คนที่สอง..เป็นคนที่มีระเบียบวินัยมาก ศึกษาข้อมูลตลอดเวลา มีความมั่นคง คนนี้เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ เขาก็ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น
คนที่สาม..ไม่เก่งอะไรเลย อ่อนน้อมถ่อมตน บริการคนอื่นตลอดเวลา ทุกคนรัก ไม่เคยเอาเปรียบเพื่อน คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ เพราะทุกคนเอื้อเฟื้อ(บอกหุ้น)เขา ไม่มีใครไปหลอกเขา
คนที่สี่..ไม่ประสบความสำเร็จ นิสัยตรงกันข้ามคนอื่นตลอดเวลา เพื่อนบอกแบบนี้มันก็เถียงว่าต้องเป็นแบบนั้น เป็นคนไม่คิดอะไรลึกๆ ชอบสวนชาวบ้าน
คือ เหรียญมันมี 2 ด้าน พูดเข้าข้างตัวเองยังไงก็ได้ ไม่เคยโทษตัวเอง คนนี้เจ้าของฉายาว่า "รู้อย่างงี้..." มีเงินหลายสิบล้านบาทเข้ามาตลาดหุ้น ตอนนี้ก็เหลือไม่เยอะ
คนที่ห้า..ทำการบ้านตลอดเวลา(แอบ)เช็คพอร์ตคนอื่นตลอดเวลา ชอบคุยกับมาร์เก็ตติ้งของรายใหญ่ เพื่อแอบดูพอร์ตคนอื่น คนนี้ก็ประสบความสำเร็จ แต่เขาตีกอล์ฟคนเดียวไม่มีเพื่อน ขนาดนั่งกินข้าวกับมาร์เก็ตติ้งยังหารค่าอาหารกันเลย นี่เขาก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
คนที่หก..ย้ำคิดย้ำทำ เสียดายตลอดเวลา คิดแล้วคิดอีก เป็นคนละเอียด ไม่เอาเปรียบเพื่อนฝูง คนนี้ก็ประสบความสำเร็จได้

"นี่ผมเล่าให้ฟังถึงนิสัยของแต่ละคนเพื่อจะบอกว่า คนแต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกัน และก็มีช่องทางประสบความสำเร็จของแต่ละคน แล้วแต่เราจะเลือกทางเดินแบบไหน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ไม่เกินความสามารถของทุกคน" เสี่ยยักษ์ ยังเล่าถึง ความเหนือชั้นของอดีตเซียนหุ้นคนหนึ่ง ชื่อ "เฮียประธาน" เขาเป็นเจ้าของคอร์ตแบดมินตัน อยู่แถวถนนบางรัก ฉายาเขา คือ "พญาอินทรี" ถ้าวันไหนที่พวกเรา(เสี่ยยักษ์ และเพื่อนๆ ในกลุ่ม) "เละ" หรือ "เจ๊ง" กันหมด เฮียประธาน จะบินมาเลย "เขาจะมาซื้อหุ้น" "สมัยก่อน ผมยกย่องเขามากว่า นี่คือ สุดยอดของ "เสือ" ตัวจริง คือเขารวยอยู่แล้ว แต่เขาจะไม่มาเล่นหุ้นทุกวัน ถึงแม้จะไม่มาตลาดหุ้น แต่เขาจะติดตามหุ้นอยู่ที่บ้านเป็นประจำ เวลานี้เขาก็ยังเป็นอย่างงั้นจริงๆ เล่นหุ้นอย่างนี้ก็ประสบความสำเร็จได้"

อีกคนหนึ่งที่ เสี่ยยักษ์ ยกตัวอย่างให้ฟังด้วยความชื่นชม เขาชื่อ "สุวิทย์" เป็นอดีตนักแบดมินตันทีมชาติ คนคนนี้ มีระเบียบวินัยมาก เวลาไม่ซื้อ คือไม่ซื้อ ถ้าเขามองเศรษฐกิจไม่ดี เขาจะไม่เล่นหุ้น(เลย) นี่คือ หลักการที่ถูกต้อง "อย่างสุวิทย์ เขาจะรอให้เกิดวิกฤติก่อน(หุ้นตกเยอะๆ)นานแค่ไหนเขาก็รอได้ วันที่เกิดวิกฤติ เขาจะมาซื้อหุ้น ตอนนี้ ก็น่าจะมีเงินเป็นร้อยล้าน"

เมื่อถามถึงการลงทุนสไตล์ "หมอยง" ท.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม นักลงทุนรายใหญ่ระดับพันล้านบาท เสี่ยยักษ์ บอกว่า หมอยง จะมีจิตวิทยาการลงทุนสูง ถ้าตลาดหุ้นตกลงมาเยอะๆ เขาซาวด์เสียงว่า ถ้านักลงทุนรายใหญ่ทุกคน "กลัว" กันหมด แสดงว่า พวกคุณเพิ่ง "โดน" (ขาดทุน) มา คุณเพิ่ง Cut Loss มา เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะขายอีกก็มีไม่มาก "เขาจะซื้อ"

"แต่สไตล์การลงทุนของผม กับหมอยงจะต่างกัน หมอยงจะเล่นหุ้นเป็นรอบ(เล็กเล่นเร็ว)แต่ของผมจะรอ "รอบใหญ่" ขอทีเดียวหนักๆ ลักษณะใส่เต็มๆ ไปเลย ถ้าทุกคนกลัวกันหมด เครื่องมือเครื่องไม้ทางเทคนิคส่งสัญญาณซื้อ ผมก็เข้า ถ้ายัง..ผมก็รอนิ่งๆ" เสี่ยยักษ์ บอกว่า อยู่ในวงการนี้มา 20 กว่าปี เห็นพฤติกรรมการเล่นหุ้นของคนเปลี่ยนไม่ค่อยได้ ใครนิสัยมายังไง บุคลิกยังไง วิธีการมันจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จ มันแล้วแต่สไตล์คน แต่คนที่อยู่รอดได้ มีแค่ประเภทเดียว คือ "คนที่ปรับตัว" นอกจากนี้ คนที่จะ "อยู่รอด" บนเวทีนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เสี่ยยักษ์ ย้ำนักย้ำหนาว่า

ข้อสำคัญที่สุด คือ "ถึงเวลาขาดทุน..คุณต้องกล้าขาย" ถ้าคุณทำได้ "คุณจะรอด"
พร้อมทั้งยังเล่าถึง "นักพนัน" ที่อยากมาเอาดีในตลาดหุ้นว่า คนที่ชอบเล่นการพนัน แล้วมาเล่นหุ้น ก็ "เจ๊ง" ได้ง่ายๆ "ผมเคยเห็นนักเล่นหุ้นที่เป็นนักพนัน เอาทุกอย่าง เห็นมาเยอะ "หมดตัวทุกคน" ไม่เหลือเลย
มีคนหนึ่ง เมื่อก่อนเคยมีเงิน 30 กว่าล้านบาท เล่นทุกอย่าง ฟุตบอลก็เล่น หุ้นก็เล่น บ่อนการพนันก็เข้า สุดท้ายแม้แต่ชีวิตครอบครัวเขาก็ล้มเหลว ...ชีวิตเขาพนันทุกอย่าง มีเงิน 20-30 ล้านบาท เคยเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าในประตูน้ำ ตอนนี้ มาเช่าบ้านอยู่ราคา 2,000 บาท

จุดเสีย..ของคนประเภทนี้ คือ เขาจะยืมเงินทุกคน แล้วเขาจะไม่มีโอกาสแก้ตัว ทุกอย่างกลับมาที่เครดิต ถ้าคุณไม่มีเครดิต ก็ไม่มีใครช่วยเหลือคุณ นี่คือ ความจริง"
เสี่ยยักษ์ สรุปถึงนิสัยของคนเล่นหุ้นแต่ละประเภทให้ฟัง